ชื่อทางวิทยาศาสตร์:Lagerstroemia calyculata Kurz
ชื่อพื้นเมือง: เปื๋อยด้อง เปื๋องนา(ลำปาง), เปื๋อยหางค่าง(แพร่), ตะแบกไข่(ราชบุรี,ตราด), ตะแบกนา ตะแบก(ภาคกลาง,นครราชสีมา), กระแบก(สงขลา), บางอตะมะกอ(มลายู, ยะลา, ปัตตานี), บางอยะมู(มลายู, นราธิวาส), ตราแบกปรี้(เขมร)
ชื่อสามัญ: ตะแบก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของใบและดอกคล้ายคลึงกับอินทนิลและเสลาเพียงแต่ใบและดอกของตะแบกเล็กกว่า ดอกตะแบกออกเป็นช่อใหญ่ ช่อเดียวกันมีทั้งดอกสีม่วงและสีขาว เป็นดอกที่กำลังจะโรย เวลาออกดอกจะทิ้งใบ เมื่อดอกโรยแล้วจะมีลูกกลมๆ ตะแบกอินทนิล เสลา ลักษณะคล้ายคลึงกันมาก การดูว่าต้นไหนเป็นต้นตะแบกต้องดูที่ลำต้น ลักษณะของต้นตะแบก ต้นจะเกลี้ยงขาว มีสะเก็ดแตกออกคล้ายต้นฝรั่ง โคนต้นมีรากฟูขึ้นมาจนเห็นชัด ออกดอกในฤดูแล้ว ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สรรพคุณทางสมุนไพร เปลือกปรุงเป็นยาแก้บิด ใช้เปลือกต้นครึ่งกำมือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือค่อนแก้วดื่มๆเฉพาะน้ำ จะช่วยให้อาการทุเลาขึ้น
ตะแบกเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ พรรณไม้ที่ถูกจารึก กล่าวถึงในงานประพันธ์ทางวรรณคดีไทย อาทิ
แคคางยางยูงดูง ต้นกระแบกแปลกกันบานฯ
สลัดไดกำจัดต้น หางยูง
บนภูภู่เขาสูง หย่งหยึ้ง
แคคางยางยูงดูง ตรงโตรด
ตะแบกแปลกกันขึ้น เกลื่อนกลุ้มบานไสวฯ ”
(กาพย์ห่อโคลงประพาสธานทองแดง พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
“ รุ่งเช้าเข้าป่ากว้าง ทางโขลง
คลองเก่าเท่าลำกระโดง โป่งช้าง
ซ้ายขวาป่าสมอโมง ไม้อุโลก โมกเอย
กระแบกกระเบาเสลาสล้าง สลับต้นคนทาฯ”
“ดึกสามยามสงัดครึ้ม งึมเงา
เป็นเยียบเงียบของเขา โขดเงื้อม
มือคลุ้มพุ่มกระแบกกระเบา บังปิด มิดเอย
แวบวัลลับแลเหลื้อม ปรอดหรอนว่อนเวียรฯ”
“โพธิ์พระยาท่าตลิ่งล้วน ล้อเกวียน
โพธิ์ไผ่ไม้เต็งตะเคียน ตะขบบ้าง
ซึกซากกระบากกระเบียน กระเบากระแบก กระบกแฮ
เสลาสลอดสลับสล้าง เหล้าไม้ใกล้กระสินธุฯ”
(โคลงนิราศสุพรรณ บทประพันธ์ของสุนทรภู่)
ตะแบก ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี คือ ลานร่มเงาที่ยืนตระหง่านเรียงรายเป็นทิวแถวแผ่เงาคลุมที่นั่งพักพิงของครูอาจารย์ และนักเรียนนักศึกษาหลายพันชีวิต มีข้อควรระลึกอยู่เสมอว่า คราใดที่ดอกตะแบกแตกช่อสีม่วงงดงามและร่วงโรย ช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี....ครานั้นคือฤดูกาลของการสอบปลายภาคเรียนซึ่งเป็นเวลากาลในการอำลาของนายช่างลูกวิษณุกาญจน์ที่ต้องออกไปเผชิญกับโลกกว้างที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า นั่นเอง
(ข้อมูลประกอบการเขียน: ชวลิต ดาบแก้วและสุดาวดี เหมทานนท์(2542) พรรณไม้ในวรรณคดีไทย เล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น